ที่ตั้งโครงการฯ มีลักษณะเป็นทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2086 กับทางหลวงหมายเลข 226  (รวมสะพานข้ามทางรถไฟ) อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจุดทางแยกที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น ปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ดังนั้น การปรับปรุงบริเวณทางแยกต่างระดับ จะช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว โดยการออกแบบปรับปรุงทางแยก ต้องมีการสำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรมอย่างละเอียด ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อนำข้อคิดเห็น มาประกอบในการพิจารณาออกแบบโครงการได้อย่างเหมาะสมตามนโยบาย และแผนงานโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวงที่ได้กล่าวมาข้างต้น และจะทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับโครงการ โดยยึดถือหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการด้านคมนาคม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมรวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ศึกษาถึงผลกระทบของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรบริเวณพื้นที่โครงการ และพื้นที่โดยรอบ ทั้งผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวและกำหนดมาตรการในการป้องกัน แก้ไขและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
   
       
 

     
  เพื่อสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2086 กับทางหลวงหมายเลข 226 (รวมสะพานข้ามทางรถไฟเพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ทางด้านวิศวกรรม สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม      
         
       
 
  • เพื่อบรรเทาปริมาณจราจรของถนนทางหลวง และแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัดบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2086 กับทางหลวงหมายเลข 226 (รวมสะพานข้ามทางรถไฟ)
  • เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2086 กับทางหลวงหมายเลข 226 (รวมสะพานข้ามทางรถไฟ)
  • เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
  • เพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้า ให้สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
  • เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
  • สนับสนุนยุทธศาสตร์ของกรมทางหลวงในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับความปลอดภัย ในการสัญจร และพัฒนาคุณภาพการให้บริการของระบบทางหลวง และสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต
 
         
       
 
บริเวณทางแยกกันทรารมย์ มีลักษณะเป็นทางแยก 4 แยก เป็นจุดตัดทางหลวงหมายเลข 226 (กม.ที่ 303+250) กับทางหลวงหมายเลข 2086 และทางหลวงหมายเลข 2085 ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร ส่วนบริเวณทางแยกวัดกันทรารมย์ มีลักษณะเป็นทางแยก 4 แยก เป็นจุดตัดทางหลวงหมายเลข 226 (กม.ที่ 302+300) กับทางหลวงหมายเลข 2125 และถนนพิชิตรังสรรค์ (ถนนเทศบาลตำบลกันทรารมย์) ปัจจุบันควบคุมด้วยสัญญาณไฟจราจร ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และบริเวณจุดตัดรถไฟ ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2086 บริเวณ กม.ที่ 109+450 จุดที่ตัดผ่านทางรถไฟมีขนาด 2 ช่องจราจร ควบคุมโดยระบบสัญญาณผ่านถนนเสมอระดับทาง (Level Crossing Rail Warning Signal)
   
       
     
 

เป็นการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2086 กับทางหลวงหมายเลข 226 (รวมสะพานข้ามทางรถไฟ) โดยจะต้องออกแบบทางแยกต่างระดับ ให้สอดคล้องกับโครงการของกรมทางหลวงในบริเวณใกล้เคียง และโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยในโครงการนี้ที่ปรึกษาจะดำเนินการวิเคราะห์การจราจรในบริเวณทางแยกและโครงข่าย และทำการสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถ   ใช้ถนน ลดผลกระทบต่อชุมชน สภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการ วิธีการก่อสร้างและนำเสนอรูปแบบในลักษณะ Stage Construction สำหรับการรองรับปริมาณจราจรในอนาคต (ถ้ามี) รวมไปถึงการปรับปรุงบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 226 กับทางหลวงหมายเลข 2125 (แยกวัดกันทรารมย์) โดยครอบคลุมงานออกแบบรายละเอียดงานทาง ระบบระบายน้ำและรายละเอียดอื่นๆ ช่วงระหว่างสองจุดตัดทางหลวงทั้งสองจุดให้มีความสอดคล้อง กับการแก้ปัญหาจุดตัดทางหลวง

   
         
       
  ระยะเวลาการดำเนินงาน 450 วัน
ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2565 ถึง วันที่ 17 มีนาคม 2567
     
         
       
 

พื้นที่ศึกษาโครงการตั้งอยู่ใน 1 ตำบล 1 อำเภอ คือ ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพื้นที่ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ และในการศึกษาผลกระทบด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์จะครอบคลุมระยะ 1 กิโลเมตรจากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ

จากการตรวจสอบข้อจำกัดทางด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่อ่อนไหว และสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน จากข้อมูลทุติยภูมิ การลงสำรวจพื้นที่ และการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมโครงการ ครอบคลุมทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้างและ
ระยะดำเนินการ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม

 
   
     
       
 

การดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชน แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม คือ
1) การประชาสัมพันธ์โครงการ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องตลอดการศึกษาโครงการ
2) การหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ
3) การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งกำหนดให้จัดการประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง แบ่งเป็นการประชุมกลุ่มใหญ่หรือสัมมนา จำนวน 3 ครั้ง และการประชุมกลุ่มย่อย จำนวน 2 ครั้ง โดยจะนำข้อคิดเห็นที่ได้มาพิจารณาประกอบการออกแบบโครงการ ให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด